Thanavi Chotpradit

multidisciplinary , theory , writing

โกลาหลสะดวกซื้อ

 

 

23 พฤษภาคม 2557 เช้าวันแรกหลังจากคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น. มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน “ครั้งแรกในชีวิต? พนักงานเซเว่นฯ เจอประกาศเคอร์ฟิว ปิดร้านไม่เป็น!!” หนึ่งปีต่อมา ศิลปิน ปรัชญา พินทอง จัดแสดงนิทรรศการ Who will guard the guards themselves ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมๆ กับนิทรรศการเดี่ยวชื่อเดียวกันที่แกลเลอรี gb agency ในปารีส ผลงานของปรัชญาเป็นโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ ภายในมีภาพถ่ายร้านเซเว่น อีเลฟเว่นตอนกลางคืนที่ศิลปินถ่ายเอาไว้สามสัปดาห์หลังการประกาศเคอร์ฟิว แสงไฟจากร้านยังคงสว่างไสวท่ามกลางความมืด แต่ภายในร้านและรอบข้างปราศจากผู้คน ว่างเปล่าและวังเวง

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างสุดขั้วแบบรัฐประหารเท่านั้นที่การควบคุมการพานิชย์แบบโลกาภิวัฒน์ที่ทำธุรกิจตลอด 24 ชั่วโมงจะเกิดขึ้นได้ การควบคุมดังกล่าวเห็นได้ชัดเกินกว่าจะไม่ถูกเอ่ยถึง

ในช่วงเวลาปกติ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงเป็นดั่งมหาวิหารในสังคมร่วมสมัย ประตูของร้านเปิดรับมวลมนุษยชาติทุกผู้ทุกนาม ในยามค่ำคืน แสงไฟอันสว่างของร้านสะดวกซื้อไม่เพียงสร้างความอุ่นใจว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มี “ความเจริญ” หากยังเป็นตัวดึงดูดให้เราสาวเท้าเข้าไปหาด้วย เสมือนหนึ่งประภาคารที่ส่องแสงนำทางให้นักเดินเรือ หากทว่ามันไม่ใช่แสงนำทางเพื่อความปลอดภัย แต่เป็นแรงดึงดูดอันลึกลับที่พาเราไปสู่การจับจ่ายที่ตอบได้แทบทุกโจทย์ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ยาแก้ปวด กระดาษทิชชู่ ปากกา จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าตั๋วเครื่องบิน กดเงินจากตู้เอทีเอ็มหน้าร้าน ฯลฯ 

ในช่วงเวลาปกติ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงแทบจะกำกับทุกย่างก้าวของชีวิตเรา สำหรับสังคมร่วมสมัยที่ผูกติดอยู่กับการบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือควบคุมอันแนบเนียนของอีกระบบหนึ่งที่ยากจะตระหนัก 

ละครเวทีเรื่อง “ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” (Super Premium Soft Double Vanilla Rich) ของคณะละครเชลฟิตช์ (Chelfitsch) เขียนบทและกำกับโดยโทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada) เสียดสีสังคมบริโภคนิยมของญี่ปุ่นและความจำเจแต่เสแสร้งของงานบริการผ่านการเล่าความเป็นไปในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงชื่อร้านสไมล์ แฟคทอรี่ ตัวละครทั้งเจ็ด ได้แก่ พนักงานชายสองคน คนหนึ่งเป็นจอมป่วน อีกคนหนึ่งดูธรรมดา ผู้จัดการร้านแสนดี พนักงานฝึกงานสาวผู้มีอาชีพหลักเป็นนักแสดงละครเวที ซูเปอร์ไวเซอร์จากสำนักงานใหญ่ ลูกค้าสาวขาประจำที่มาซื้อไอศกรีม “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วนิลลา ริช” อย่างเดียวทุกคืน และชายหนุ่มนักต่อต้านผู้แวะมาพูดจาก่อกวนที่ร้านทุกวัน ผลัดเปลี่ยนกันออกมาสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนตกเป็นทาสของวัตถุและการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

พื้นที่ร้านสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยการฉายภาพชั้นวางของภายในร้านลงบนฉากกั้นสองด้าน เปิดด้านหน้าประจันกับผู้ชม เผยให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในร้าน บนเวทีเล็กๆ นี้ไม่มีซอกมุมปิดลับอันใด เปิดเผยพอๆ กับกลไกและยุทธศาสตร์ทางการตลาดของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่เหล่าตัวละครเรียงหน้ากันออกมาให้ข้อมูล การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ดูผิดธรรมชาติ อากัปกิริยาที่เกินจริงราวกับตัวการ์ตูนของแต่ละคนยิ่งเน้นย้ำความพิสดารพันลึกของการขาย แต่ความเกินจริงจนดูน่าขบขันนี้เองที่เป็นตลกร้าย ความเกินจริงสื่อเป็นนัยถึงระดับความเอาจริงเอาจังของการขับเคี่ยวในโลกธุรกิจ เพราะเกินจริงจึงสมจริง ดังนั้น premiumization ที่เปลี่ยนสินค้าขายไม่ออกอย่างไอศกรีม “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” ให้กลายเป็น “ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” ชื่อที่แม้แต่พนักงานขายก็ยังเรียกผิดเรียกถูก จึงไม่ใช่เพียงเรื่องตลกในละคร แต่คือภาพสะท้อนความเป็นจริงของโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยน ขยายความชื่อสินค้าเดิมให้ยาวขึ้นด้วยขบวนพาเหรดของคำคุณศัพท์เพื่อการเพิ่มมูลค่า

ละครยังชี้ให้เห็นถึงกลไกของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่พนักงานในตำแหน่งต่างๆ เป็นเพียงฟันเฟืองที่ต้องหมุนไปตามระบบที่ควบคุมอยู่ ในที่นี้ ตัวตนอันเฉพาะของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ผู้จัดการร้านผู้ขยันขันแข็งพยายามขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของการทำงานเพื่อให้ธุรกิจพัฒนาขึ้นโดยเสนอต่อสำนักงานใหญ่ว่าพนักงานในร้านควรทำท่าทางอย่างไรเวลาทอนเงินให้ลูกค้า พนักงานจอมป่วนก็แกล้งคีย์ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับสินค้าและกลุ่มลูกค้าเพื่อก่อกวนระบบการทำงานอันซ้ำซากจำเจ ทั้งสองเป็นตัวอย่างขั้วบวกขั้วลบของอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับกลไกอันมหึมาที่ขับเคลื่อนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ทว่าในสังคมญี่ปุ่นที่ความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสำคัญกว่าปัจเจกภาพ ซูเปอร์ไวเซอร์จากสำนักงานใหญ่ในชุดสูทผู้พูดผ่านไมโครโฟนตลอดเวลาจึงเป็นตัวละครที่ทำหน้าที่คอย “กำกับ” ทุกคนให้อยู่กับร่องกับรอย เขาเป็นตัวแทนของระบบอันทรงอำนาจ การป่วนข้อมูลไม่มีผลอะไร มารยาทการทอนเงินแบบใหม่ถูกตีตกเพราะอคติทางเชื้อชาติ (การทอนเงินแบบใหม่นี้มีที่มาจาก “คุณอี” นักเรียนชาวเกาหลีที่มาทำงานพาร์ทไทม์) และการเอาใจใส่ลูกค้าจนเกินความจำเป็นของพนักงานฝึกงานสาวก็ส่งผลเสีย ในวงจรอันปราศจากความยืดหยุ่นนี้ ทุกความแตกต่างจะกลืนกลาย หากไม่เช่นนั้นก็ต้องกำจัดตัวเองออกไป เฉกเช่นสาวฝึกงานที่ขอลาออกเพื่อชดใช้ความผิด(?) แม้จะไม่มีใครขอให้ลาออก แต่ก็ไม่มีใครคัดค้านการลาออก 

ชีวิตในสังคมร่วมสมัยต้องยอมจำนนต่อกลไกอัตโนมัติของบริโภคนิยมถึงเพียงนั้นเชียวหรือ? ท่ามกลางเสียงดนตรีประกอบจากงานประพันธ์ของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาคที่ล่องลอยเป็นฉากหลัง มีแต่เสียงเงียบของบาร์โค้ดที่ไม่ยอม “ตี๊ด” เท่านั้นที่สามารถสร้างความโกลาหลให้กับระบบซื้อขายที่วางไว้อย่างดีได้ ฉากที่สาวฝึกงานเล่าเรื่องความยากลำบากในการจี้เครื่องอ่านบาร์โค้ดกับสินค้า ที่สุดท้ายเธอมักจะต้องยอมแพ้ด้วยการลงมือคีย์ข้อมูลด้วยตนเองใบ้แนะว่าแม้แต่ระบบการจัดการที่สมบูรณ์แบบที่สุดก็มีช่องโหว่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในขณะที่เรากำลังรู้สึกมีความหวังขึ้นมานิดๆ ว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่คิดได้ด้วยตนเองจะสามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ ละครก็ขยี้ความหวังนั้นลงในนาทีต่อมาด้วยการส่งผู้จัดการร้านเดินออกมาบอกว่า ปัญหาคราวนี้ไม่ได้เป็นที่เครื่องอ่านบาร์โค้ดหรอก แต่เป็นเพราะไอศกรีม “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” มันเลิกขายไปแล้วต่างหาก สินค้าที่ไม่มีคนนิยมไม่ใช่สินค้าอีกต่อไป ไอศกรีม “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” กลายเป็นของนอกระบบ เพราะฉะนั้น เครื่องอ่านบาร์โค้ดจึงไม่ทำงาน

“ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” ชี้ให้เห็นว่าการเสียลูกค้าผู้ซื่อสัตย์อย่างสาวติดไอศกรีมไปเพียงคนเดียวนั้นไม่มีความหมาย ในโลกของการตลาดและสินค้าอันล่อตาล่อใจ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ตอบโจทย์ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันพ่าย แม้แต่ชายหนุ่มที่แวะเวียนมาประกาศอิสรภาพที่จะไม่ซื้อของในร้านทุกวันยังต้องขอ “ใช้บริการ” ห้องน้ำในวันที่ทนไม่ไหว แต่พนักงานคนที่ดูธรรมดาที่สุดในเรื่องนั่นเองที่เป็นคนปฏิเสธ ก็ในเมื่อต่อต้านธุรกิจนี้แล้วจะมาขอใช้ห้องน้ำฟรีได้อย่างไร ตัวแทนของการวิพากษ์ร้านสะดวกซื้อย่อมไม่ใช่ “ลูกค้า” ของร้านสะดวกซื้อ เมื่อเป็นเช่นนั้น พนักงานบริการก็ไม่จำเป็นต้องให้บริการ 

เราอาจจะเดินเข้าร้านสะดวกซื้ออย่างไม่มีจุดหมาย แต่เชื่อเถอะว่าน้อยครั้งนักที่เราจะไม่ได้อะไรติดมือกลับออกมา เบื้องหลังความสะอาด แสงไฟอันสว่างไสวและชั้นวางของอันเป็นระเบียบของร้านสะดวกซื้อนั้นเองที่กลไกของวัฒนธรรมบริโภคนิยมกำลังขับเคลื่อนอยู่อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่เรามองเห็นจะหายไปในระยะเวลาที่คิดคำนวณไว้แล้ว เพียงเพื่อจะกลับมาในรูปโฉมใหม่ที่เราอาจจำได้หรือไม่ได้ก็ได้ กระแสการบริโภคจึงไม่ได้เคลื่อนไปข้างหน้า แต่วนกลับไปกลับมา “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” กลายเป็น “ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” ในภาวะที่ยอดขายเป็นดัชนีชี้เป็นชี้ตาย มีแต่การกลายร่างเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้สินค้าเดิมเท่านั้นที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์

 

ละครเวที “ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” (Super Premium Soft Double Vanilla Rich) ของคณะละครเชลฟิตช์ (Chelfitsch) เขียนบทและกำกับโดยโทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada) จัดแสดงที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2560 สนับสนุนโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ

ภาพ:  เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ

 

Mar 20, 2017
1148 views

Other journal

  • Sheep (بيريڠ): Documentary of the Nonhuman

    In the exquisite carved and gilded frames that hung on the wall above the horizon line is the matted and stained sheep’s wool. Dirty as it seems, the wool was taken from stray sheep wandering around the village of Ru-Sa-Me-Lae, a small village in Pattani. Pattani is one of the three provinces (Pattani, Yala and Narathiwat) in the Deep South or the Patani region, the southernmost part of Thailand. It is a predominantly Islamic region where the protracted conflict between the Thai state and the militants aiming to liberate Patani and establish a Malay Islamic State, Patani Darussalam, has been consuming thousands of lives for decades. The Deep South has long been a subject of study of violence and state oppression.

    Thanavi Chotpradit
    Jun 19, 2018
    2324 views

  • วิมาน (House/Hope)

    บทความประกอบนิทรรศการ The Broken Ladder โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จัดแสดงที่ Gallery Ver ระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2561
    ธนาวิ โชติประดิษฐ (เขียน)
    พจนรรฏ สุทธิพินิจธรรม (แปล)
    Tanachai Bandasak (ภาพ)

    House/Hope is written by Thanavi Chotpradit for the exhibition catalogue 'The Broken Ladder' by Wantanee Siripattananuntakul. The Broken Ladder is on view at Gallery Ver from 7 February to 31 March 2018.
    Translation: Pojanut Suthipinittharm
    Photographer: Tanachai Bandasak

    Thanavi Chotpradit
    Feb 8, 2018
    2438 views

  • วิพากษ์กายแห่ง “กาย-วิพากษ์”

    ไม่ว่าจะตระหนักถึงนัยการเมืองของศิลปะหรือไม่ นิทรรศการ SILPA: TRANSFORM กาย-วิพากษ์ได้ดึงเอาประเด็นที่น่าสนใจที่สุดประเด็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ อันได้แก่ การแสดงภาพร่างกายขึ้นมา ทว่าน่าเสียดายที่ยังไปไม่ถึงการ “วิพากษ์” ในความหมายของ “critique” คือการวิเคราะห์แจกแจงโดยละเอียดถึงนัยการเมืองของการให้ภาพร่างกายที่เกาะเกี่ยวอยู่กับรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมือง รูปแบบทางศิลปะหรือ “สไตล์” ที่ส่งผลต่อการนำเสนอภาพร่างกายในยุคที่ศิลปทำงานนั้นสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสำนึกเรื่องชนชั้นทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้จะมีแยกส่วนร่างกายออกมาเป็นภาพร่างมากมายบนกระดานดำ “กาย-วิพากษ์” ก็ยังเป็นแค่ “กายวิภาค” แต่ยังไม่ถึงกับ “วิพากษ์กาย”

    Thanavi Chotpradit
    Mar 14, 2017
    2348 views

About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]