ข้อจำกัดภายใต้โครงสร้างเทศกาลศิลปะแบบ Biennale: งานศิลปะพื้นที่เฉพาะและอัตตาณัติของชิ้นงานศิลปะ

 

             ปรากฏการณ์การแพร่กระจายของเทศกาลศิลปะ biennale ได้เข้มข้นขึ้นและกระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา ในแต่ละปีนั้นมีการจัดงาน biennale ขึ้นมากมายในหลายๆประเทศ ในปี 2018 หากนับเพียงเทศกาลที่จัดขึ้นในลักษณะที่เป็นทางการแล้วมีถึง 10 เทศกาลทั่วโลก และในปี 2019 จะมีเทศกาลที่เปิดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนกว่า 24 เทศกาล การเติบโตของวัฒนธรรม biennale จึงเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะเทศกาลศิลปะเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำหน้าที่เป็นหน้าฉากและตัวเชื่อมระหว่างโลกศิลปะกับพื้นที่สาธารณะ

 

              บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเจาะลึกลงไปในประเด็นของการใช้ biennale ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองหรือเครื่องมือสำหรับสะสมทุนและไม่ใช่บทวิเคราะห์ที่เจาะจงลงไปในเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง บทความนี้จะเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงโครงสร้างของbiennale ว่าเงือนไขและข้อจำกัดต่างๆในเชิงปฏิบัติการส่งผลต่อศิลปินและชิ้นงานศิลปะที่ถูกเลือกมาอย่างไร บทความนี้สามารถสรุปออกมาได้เป็น 2 ประเด็นดังนี้:

 

1.ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ในมิติเชิงญาณวิทยาระหว่างศิลปินกับพื้นที่ในกรณีทำงานพื้นที่เฉพาะ (site-specific)

2.ความเป็นอัตตาณัติ (autonomy) ของชิ้นงานศิลปะที่ปฏิเสธบริบทใหม่ของพื้นที่

               ผู้เขียนเชื่อว่าบทวิเคราะห์นี้จะมีความสำคัญในการทำความเข้าใจข้อจำกัดของวิถีปฏิบัติของเทศกาลศิลปะแบบ biennale ในแง่ของการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกศิลปะกับโลกสาธารณะ

 

              1.ในประเด็นแรก เมื่อเราพูดถึงการปฏิบัติการของโครงการ biennale แล้ว การเชิญชวนศิลปินมาทำงานศิลปะพื้นที่เฉพาะมักเป็นที่นิยมเนื่องจากโครงการต้องการสร้างชิ้นงานที่เป็นส่วนหนึ่งของบริบทสังคมนั้นๆ ทว่าการมีอยู่ของมันนำผู้ชมไปสู่อะไรกันแน่ในความเป็นจริง มันนำเราไปสู่มิติทางญาณวิทยาใหม่ๆหรือไม่หรือนำไปสู่แค่ในระดับสุนทรียะทางผัสสะเท่านั้น

              ข้อจำกัดแรกที่สร้างเงื่อนไขต่อบทบาททางศิลปะของชิ้นงานเหล่านี้ คือ ข้อจำกัดทางเวลาซึ่งส่งผลต่อวิถีปฏิบัติของศิลปิน “ด้วยกำหนดการที่เร่งรัดและเวลาที่จำกัดสำหรับศิลปิน” ทำให้ศิลปินไม่สามารถทำความเข้าใจในเชิงลึกหรือเชิงโครงสร้างของพื้นที่และบริบทใหม่ๆเหล่านั้น ผลลัพธ์ก็คือชิ้นงานที่ขาดความคมคายในเชิงญาณวิทยา ชิ้นงานเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ “กลมกลืน” ไปกับพื้นที่เท่านั้น ดังนั้นสิ่งมักจะเกิดขึ้นก็คือ ขอบเขตทางศักยภาพของชิ้นงานศิลปะที่อยู่เพียงแค่ระดับสุนทรียะทางผัสสะและขาดความสำคัญในเชิงโครงสร้าง ข้อจำกัดและความเป็นจริงข้อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มศิลปินจากต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมไปถึงศิลปินในประเทศนั้นๆเองด้วย เพราะศิลปินในประเทศนั้นก็อาจจะขาดความเข้าใจหรือความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้

 

              2.นอกจากการเชิญศิลปินมาสร้างชิ้นงานศิลปะพื้นที่เฉพาะแล้ว ชิ้นงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ การคัดเลือกผลงานเก่าๆของศิลปินมานำเสนอในพื้นที่ใหม่โดยภัณฑารักษ์ แน่นอนว่าในบางกรณีผลงานศิลปะเหล่านั้นอาจมีผลลัพธ์ไม่ต่างไปจากกรณีของศิลปะเชิงพื้นที่ดังที่กล่าวมา ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ต้องแบกรับภาระก็คือภัณฑารักษ์เองแทนที่จะเป็นศิลปิน

 ทว่าในบางกรณี ภัณฑารักษ์อาจนำเสนอชิ้นงานศิลปะที่หยิบยืมมาเหล่านี้มาร้อยเรียงใหม่เป็นชุดความคิดทางณาญวิทยาขึ้นมา เช่น การจัดห้องห้องหนึ่งที่ประกอบไปด้วยชิ้นงานศิลปะที่ร่วมกันบ่งชี้ถึงประเด็นร่วมกันประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปด้วยความเป็นนานาชาติของเทศกาลศิลปะ biennale การร้อยเรียงชิ้นงานเหล่านี้เข้าด้วยกันโดยภัณฑารักษ์มักเป็นไปในเชิง “โครงสร้าง” (structuralist) ที่มีร่วมกัน ส่วนบริบทของแต่ละชิ้นงานนั้นจะถูกทำให้เป็นเรื่องรอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้ชม บริบทที่แปลกแยกอาจไม่มีความสำคัญเลยก็ได้ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดเชิงความรู้ของเขาเหล่านั้น ในกรณีนี้บริบทจะถูกทำลายทิ้งอย่างสิ้นเชิง  ในนิยามเชิงศิลปะเราอาจเรียกรูปแบบของนิทรรศการดังกล่าวว่าเป็น globalist exhibition ซึ่งอีกนัยหนึ่งจะกลายเป็นสถานที่ที่ไร้ซึ่งบริบทหรือ non-place

              ด้วยธรรมชาติข้อนี้นำเราไปสู่ประเด็นภายใต้ข้อจำกัดของรูปแบบ structuralism นี้ นั่นก็คือความเป็นอัตตาณัติของชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้น เนื่องจากชิ้นงานเหล่านี้ถูกสร้างและบ่งชี้ถึงบริบทที่เฉพาะเจาะจงที่เป็นทุนเดิม ตัวชิ้นงานเองจึงมีศักยภาพในการขบฏต่อการร้อยเรียงเรื่องราวของภัณฑารักษ์และต่อนิทรรศการที่ถูกนำเสนอเพียงแต่ประเด็นร่วมในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นชิ้นงานศิลปะเหล่านี้รวมถึงตัวนิทรรศการเองจึงมีความแปลกแยกออกจากพื้นที่หรือบริบทสังคมที่มันอยู่รวมถึงแปลกแยกออกจาผู้ชมด้วยเช่นกัน

 

       สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรจะตั้งคำถามต่อก็คือความแปลกแยกภายในธรรมชาติของเทศกาล biennale นี้ว่ามันนำพาผู้ชมงานและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆไปสู่อะไร biennale ไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ใดก็เป็นเพียง spectacle หรือ non-place ดังในที่กล่าวมาหรือเปล่า หรือความเป็น non-place นี้ได้สถาปนาวัฒนธรรมของตนเองและพยายามดึงผู้ชมที่หลากหลายเข้าสู่โลกที่สัมพันธ์ร่วมกันเชิงโครงสร้างเท่านั้นหรือไม่ ธรรมชาติของ biennale นั้นคือการกำจัดความหลากหลายเพื่อนำไปโลกใบเดียวกันผ่านจุดร่วมที่มีซึ่งกันเเละกันหรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นมันจะนำพาเราไปสู่อะไรต่อ

 

Jan 27, 2019
1402 views

Other journal

  • Of Art-Making in The Collector 0.01% (Critical review of an exhibition )

    บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ชิ้นงาน และนิทรรศการ The Collector 0.01% โดย ปัญจพล นาน่วม ที่ Cartel Artspace ในช่วงเวลา 6-21 ก.ค. ตัวเนื้อหาเป็นมุมมองประเด็นต่างๆ และศิลปะการใช้สื่อทางกายภาพเพื่อขับเน้นความเป็นศิลปะให้เกิดขึ้่นอย่างมีประสิทธิภาพ
    Keywords: ความเป็นศิลปิน, กรอบ, ขนาด, การสะสม, performativity

    Nonthachai Sukkankosol
    Jul 13, 2019
    1515 views

  • รากฐานเชิงภววิทยาของ This page is intentionally left blank (2019): ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

    (This page is intentionally left blank (2019) as Autopoietic Form)

    This page is intentionally left blank (2019) โดย คุณ ปรัชญา พิณทอง เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงและเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านหลายๆท่านคงจะได้อ่านบทวิเคราะห์มากอยู่บ้างแล้วเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ ในทัศนะของผู้เขียน บทวิเคราะห์เหล่านั้นมักเจาะจงไปที่ “สาร” หรือชุดความคิดบางอย่างที่ตัว “สื่อ” กระตุ้นและนำพาพวกเขาเหล่านั้นไป อย่างไรก็ตามบทความนี้ผู้เขียนต้องการวิเคราะห์ในมุมอื่น นั่นคือลักษณะเชิง “ภววิทยา” (ontology) ของผลงานชิ้นนี้ ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านที่สนใจเรื่องทฤษฏีคงจะสนุกกับมันอยู่บ้าง

    Nonthachai Sukkankosol
    Feb 3, 2019
    1751 views

About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]