TRYN Pools

management , writing

“TRUE or FALSE /รูป – อรูป”

 “งานศิลปะนั้น (...) เปรียบดังเมล็ดข้าวโพด ที่แต่ละเมล็ดล้วนมีอัตลักษณ์ในตัวเอง และยังคงเอกลักษณ์เมื่อรวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นฝักอย่างสมดุล ในขณะเดียวกันศิลปะนั้นเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความอ่อนไหวของการตีความที่แตกต่างกันอย่างนับไม่ถ้วน โดยที่ความหลากหลายนี้มิได้ส่งผลกระทบต่อความจำเพาะของงานศิลปะนั้นแต่อย่างใด ดังนั้นการตอบรับความเห็นของผู้ชมในทุกครั้ง จึงเป็นทั้งการตีความและการแสดงของตัวมัน เพราะทุกความเห็นที่ศิลปะฉวยไว้ ย่อมเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆให้แก่ตัวงานศิลปะเอง” 
    Umberto Eco , The Open Work,  1962.

จากนิทรรศการแสดงผลงานชุด “Dimensions Variable” ของ เกศ ชวนะลิขิกร ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีก่อน(2015) ซึ่งในการแสดงงานครั้งนั้น ประกอบไปด้วยจิตรกรรมนามธรรม จำนวน 12 ผลงาน โดยในแต่ละผลงาน มีขนาดและองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาจัดวางแล้วผลงาน บางชุดก็มีองค์ประกอบ 3 ชิ้นแยกกัน  บางชุดมี 5 ชิ้น 6 ชิ้น ไม่ก็ 9 ชิ้น หรือบ้างก็จัดวางเดี่ยวเพียงภาพเดียว  สำหรับการแสดงผลงานนิทรรศการ “TRUE or FALSE /รูป – อรูป” ที่จัดแสดง ณ Gallery Seescape เชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานบางส่วนจากนิทรรศการครั้งดังกล่าว ร่วมกับผลงานใหม่อีกชุดหนึ่ง  คือ ภาพพิมพ์จำนวน 26 ภาพ นำเสนอตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว ที่จัดทำร่วมกับ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ศิลปินและเจ้าของ C.A.P. Studio ผลงานทั้ง 26 ชิ้นนี้ ใช้ระยะเวลาในการผลิตและจัดทำกว่าสองปี เนื่องด้วยกระบวนการที่แตกต่างกันของเทคนิคภาพพิมพ์ การเลือกใช้รูปแบบตัวอักษร สี และการตั้งชื่อผลงานที่ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับตัวอักษรต่างๆ ซึ่งหากมุ่งพิจารณาตามเกณฑ์ อาทิ ลายเส้น รูปทรง องค์ประกอบ สี และรูปลักษณ์แบบสองมิติ ในกระบวนการทำงานของจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึก (Abstract Expressionism) นั้น ลัทธิศิลปะแนวนี้ได้ละทิ้งลักษณะทุกอย่างทางศิลปะเสนอลักษณ์ กล่าวโดยสำคัญคือมุ่งไปทางศิลปะบริสุทธิ์โดยปราศจากเนื้อหาภายนอกนั่นเอง
สำหรับผลงานชุด “TRUE or FALSE”  เกศ ชวนะลิขิกร ตั้งใจแสดงจุดยืนอันไม่เห็นด้วยกับขบวนการจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึก ตามที่กล่าวมา ซึ่งในประเด็นนี้ Jasper Johns  (เกิดใน ค.ศ.1930) เคยกล่าวไว้ว่า เขานั้นมองศิลปะเป็นเหมือนการสื่อสารทางความคิด และได้ริเริ่มใส่คำหรือตัวเลขต่าง ๆ ลงบนผลงานภาพวาดเชิงนามธรรมของเขา ในภาพที่มีชื่อว่า Gray Numbers ( ค.ศ. 1957) และ False Start (ค.ศ. 1959) โดยมองว่าการกระทำนี้เป็นการนำเนื้อหากลับสู่งานศิลปะอีกครั้ง การนำภาษามาใช้ในงานศิลป์ของ Jasper ถือเป็นต้นเค้าในการพิเคราะห์ถ้อยคำและความหมายของถ้อยคำในงานศิลปะเชิงความคิด  (Conceptual art) ช่วงปลายยุค  1960 


ย้อนกลับไปนิทรรศการครั้งที่แล้วที่กรุงเทพฯ เกศ ชวนะลิขิกร ได้เขียนอธิบายงานของเขาในสูจิบัตรว่า “...ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นผลงานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาและความหมาย....” เขาได้ลงมือเขียนคำ ( “Time” ) หรือวลี ( “Blame the Weather” ) ลงไปบนภาพนามธรรมของตน จากนั้นก็เปลี่ยนการจัดลำดับภาพวาดนั้นเสียใหม่ ให้คำและวลีดังกล่าวไม่สามารถอ่านออกได้ และเมื่อไม่มีชื่อของงานศิลปะตามคำหรือวลีนั้น ๆ ปรากฏให้เราเห็น  เราก็ไม่สามารถอ่าน คำหรือถ้อยวลีที่อยู่บนภาพนั้นออกได้เลย   ในประวัติศาสตร์ของงานจิตรกรรม ที่ใช้คำหรือข้อความบนภาพวาดเชิงนามธรรม อย่างงานของ Cy Twombly  หรืองานเชิงศิลปะรูปลักษณ์ ดังเช่นงานของ Edward Ruscha  เป็นสิ่งที่เห็นได้จนคุ้นชิน แต่เกศได้สร้างรูปแบบศิลปะใหม่ที่อาจจะเรียกว่า ภาพวาดเชิงปฏิพจน์ (Oxymoron paintings) ดังที่เราเห็นได้จากงาน จิตรกรรมนามธรรมและภาษา ที่ผ่านมาของเขา เราจะสามารถเปรียบเทียบเจตนาของเกศที่พยายามแสดงความแตกต่างจากแนวโน้มกระแสหลักของศิลปะเชิงแนวคิด กับความปรารถนาของ Robert Rauschenberg ในผลงาน Erased de Kooning Drawing (ค.ศ. 1953) ที่จะพาตัวเองหลีกลี้ออกจากจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้หรือไม่ สิ่งที่ชัดแจ้งก็คือไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพพิมพ์ก็ตาม ผลงานของเกศนั้นล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะแบบเปิดหรือ Open Work ทั้งสิ้น อนึ่ง ในหนังสือชื่อเดียวกัน (Open Work) ที่เขียนโดย Umberto Eco และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962 ผู้เขียนได้ให้คำจำกัดความ ศิลปะแบบเปิด ว่าเป็นดั่งความเคลื่อนไหวที่มีพลวัตหรือเป็นกระบวนการที่ไร้จุดจบหรือความหมายที่ถูกกะเกณฑ์ไว้ก่อน กล่าวคือศิลปะแบบเปิดเป็น “งานที่ไม่นิ่ง” เป็นสิ่งที่มีความหมายเฉพาะกาล หรือสามารถมีนิยามได้แตกต่างหลากหลาย และความหมายดังกล่าวก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของความหมายอย่างไม่หยุดนิ่ง 


เกศ ชวนะลิขิกร ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของผลงานของเขาในงานนิทรรศการแต่ละคราว แต่ยังคงชื่อผลงานและส่วนประกอบของภาพไว้ การจัดวางที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่าง และนับเป็นผลงานใหม่ในทุกครั้งที่จัดแสดงสำหรับนิทรรศการที่ Gallery Seescape ในครั้งนี้มีความต่างจากนิทรรศการที่จัดแสดง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแง่ที่ว่า ศิลปินได้เปิดโอกาสให้ผู้อื่นสามารถจัดเรียงผลงานแทนตัวเขาได้ (ทั้งนี้ Gallery Seescape ยังคงความตั้งใจที่จะรักษาคุณค่าทางสุนทรียะในผลงานของศิลปิน) แต่ผมเห็นว่าเราไม่ควรจะคาดการณ์ในจุดนี้มากเกินไป หรือแม้กระทั่งการเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดตามอย่างเรื่อง “มรณกรรมของผู้แต่ง” (The Death of the Author ) ที่ Roland Barthes  หรือ Michel Foucault  ได้เสนอไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดของเกศดูจะใกล้เคียงกับแนวคิดของ Umberto Eco ซึ่งเน้นย้ำว่ากลไกการตีความจักต้องเป็นผลจากการตีความอันสมดุลที่เกิดจากแต่ละส่วนดังต่อไปนี้ กล่าวคือ เป็นการตีความจากชิ้นงานศิลปะประการหนึ่ง ผู้ชมประการหนึ่งและศิลปินอีกประการหนึ่งมากกว่า ผมจึงใคร่ขอกล่าวเชิญชวนทุกท่านเข้าชมผลงานด้วยคำกล่าวของ Umberto ที่ว่า “งานศิลปะเป็นสารที่มีความกำกวมเป็นพื้นฐาน เป็นความหลากหลายของความหมายหรือ สัญญัติต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันภายใต้สัญญาณเดียวกัน”
                                Sébastien Tayac
 

Oct 21, 2016
6672 views

Other journal

  • Figurative Abstraction

    Curator's statement of Figurative Abstraction exhibition by Sébastien Tayac

    TRYN Pools
    Mar 22, 2017
    816 views

  • Self-Portraits of others : English Version

    You feel what you can see or you see what makes you feel?
    Come and find out in "Self-Portraits of Others"

    TRYN Pools
    Sep 24, 2016
    795 views

  • Self-Portraits of Others

    ผลงานของ Christopher Stern ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้ใช้ฝีแปรงและชั้นของสีนำเสนอฟิกเกอร์ และภาพ Portrait สะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน สื่อบรรยายให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อตัวเขา โดยภาพทั้งหมดถูกวาดขึ้นแบบไม่มีการตระเตรียมล่วงหน้า ให้บรรยากาศดูราวจะได้ยินความเงียบเปล่งเสียงดังออกมา สีหน้า แววตาของภาพแสดงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งชวนตั้งคำถาม และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้หยุดคิดตีความ

    TRYN Pools
    Sep 24, 2016
    751 views

  • Art Camera

    ทีมสถาบันวัฒนธรรมจาก Google เปิดตัวกล้อง Art Camera ตามถ่ายเก็บภาพงานศิลปะชิ้นสำคัญทั่วโลก เอามาเก็บรักษาเป็นไฟล์ภาพแบบดิจิตอล ความละเอียดระดับสูง ใช้เก็บภาพงานศิลปะทั่วโลก

    TRYN Pools
    Jun 5, 2016
    947 views

About

“A man who knows the price of everything and the value of nothing."

Contact
tel. +66 9 9813 5324
e-mail: [email protected]
address:

34 Montree Rd, Wat Kate
Muang Chiangmai 50000
T H A I L A N D

Email : [email protected]

Website
http://12sunday.blogspot.com
Social