(Un) Composition หมู่งานศิลปะที่ไม่เรียกร้อง แต่ชี้ช่อง

‘องค์ประกอบศิลป์’ คือพื้นฐานสำคัญในการทำงานศิลปะ เป็นการจัดการกับส่วนประกอบต่างๆ ของภาพ เพื่อความเป็นระบบระเบียบเพลิดเพลินต่อสายตาที่มองเห็น ในหนังสือ องค์ประกอบของศิลปะ ของชลูด นิ่มเสมอ ซึ่งเป็นดังตำราแม่บทของการศึกษา/ทำงานศิลปะในประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของ ‘รูปทรง’ และ ‘เนื้อหา’ อันเป็นใจหลักสำคัญในการจัดองค์ประกอบชิ้นงานศิลปะ แนวคิดจารีตนี้ไม่เพียงเป็นคู่มือหากเป็นคาถา เพราะมีอิทธิพลจนกลายเป็นกรอบกำหนดคุณค่าและรูปแบบการศึกษา/ทำงานของสถาบันศิลปะไทยจวบจนปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นเหตุให้ชิ้นงานจิตรกรรมในความคุ้นชินของคนทั่วไปมักจำกัดอยู่เพียงการวาดเส้นอันเหมือนจริง การลงสีที่สวยงาม และตอบรับกับหลักคิดทั้งสองข้อ

นิทรรศการ ‘(Un) Composition’ ของลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล [1] เล่นกับกรอบมโนทัศน์จัดองค์ประกอบศิลป์ข้างต้น ศิลปินนำเสนอผลงานจิตรกรรมลักษณะคล้ายงานนามธรรมที่สร้างขึ้นภายใต้กรอบนิยามต่างออกไป โดยให้ความสนใจกับ ‘กระบวนการ’ และ ‘วัสดุ’ เป็นสำคัญ

ภาพของผืนผ้าใบที่ได้รับการทาสีรองพื้นทับซ้ำหลากรอบ จนเกิดเป็นชั้นนูนหนาเหนือพื้นผิว งานของลัทธพลอาศัยระยะเวลาจำนวนมาก การทาแต่ละชั้นจำเป็นต้องรอให้สีแห้งสนิท เพื่อทาชั้นต่อไปได้ ในแต่ละชั้นเราจะพบขนแปรง เศษฝุ่น เส้นผม ขี้บุหรี่ ซากแมลง ศิลปินจงใจปล่อยทิ้งไว้ไม่ปัดออกเพื่อต้องการนำเสนอว่าสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานศิลปะ อันเกิดจากสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำชิ้นงาน

 

 

ในแง่นี้ กระบวนการทำงานได้นำเสนอตนเองเป็นเนื้อหาหลักของชิ้นงาน สิ่งแปลกปลอมบนภาพกลายสถานะเป็นทัศนธาตุต่างๆ ขนแปรงเป็นเส้น เศษฝุ่นเป็นจุด ขี้บุหรี่เกิดเป็นน้ำหนัก ร่องรอยไร้รูปทรงอันชัดเจนเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมใช้จินตนาการในการก่อรูปสร้างร่างให้แก่สิ่งที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า ด้วยธรรมชาติของคนเราเรียกร้องความเข้าใจมากกว่าความไม่เข้าใจ ว่างก็สร้างความหมายให้กับสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องหมายความ สายตาซุกซนที่มองเห็นสิ่งต่างๆ มักเจือด้วยจินตนาการจากประสบการณ์ของชีวิต โดยนำสิ่งที่เห็นไปเชื่อมโยงหรือเทียบเคียงกับรูปทรงลักษณะของสิ่งคุ้นตา เพื่อทำลายอาการดูไม่ออกบอกไม่ได้ต่อสิ่งที่ตาเห็น และเป็นการทำให้สิ่งที่มองนั้นเด่นชัด เกิดความหมาย และสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Pareidolia’ ตัวอย่างสามัญคือการที่เรามองรูปทรงของก้อนเมฆเป็นภาพแทนสิ่งต่างๆ หรือการทดสอบบุคลิกภาพแบบ ‘Rorschach Test’ ภาพจุดหมึกไร้รูปทรงชัดเจน อันเป็นการทดสอบที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับสิ่งเร้าทางตา ผลงานที่ไม่เห็นถึงความจงใจจัดทัศนลักษณ์ของลัทธพล จึงเล่นกันกับกระบวนการคิดของผู้ชม ความจงใจของศิลปินอาจไมได้บ่งชี้ถึงอะไร หากแต่ความเข้าใจของผู้ชมต่างหากที่สร้างภาพ ก่อความหมายขึ้นในจินตนาการของตน

 

 

ผลงานอีกส่วนของลัทธพลกลับตรงกันข้าม ไม่ปรากฏร่องรอยของสิ่งใดบนระนาบภาพ ผืนผ้าใบที่ถูกขึงตึงมองเห็นได้เพียงพื้นผิวขาวโพลน จากการทาสีขาวทับซ้ำลงหลายรอบจนเกิดเป็นรอยนูนของชั้นสีที่ฉาบหน้าผ้าใบเอาไว้ เมื่อไม่อาจเห็นชัดว่าคือภาพของอะไร จึงลวงให้ผู้ชมเพ่งมองในระยะใกล้ แต่ก็จะพบว่าสายตาของเราไม่อาจจับจ้องกับพื้นผิวของภาพได้ ครั้นลองถอยออกมองห่างในระยะไกล สิ่งที่เห็นได้ชัดของภาพกลับกลายเป็น ‘กรอบ’

ชวนให้นึกถึงกรอบในนิยามของฌาคส์ แดร์ริดา นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้เสนอว่าคุณสมบัติของกรอบคือ ‘ส่วนเพิ่ม’ [2] เป็นส่วนที่ทั้งปรากฏและไม่ปรากฏไปพร้อมกันขณะเรามองภาพ สำหรับแดร์ริดา กรอบเป็นส่วนที่แยกออกจากทั้งผลงานและฝาผนัง หากมองระยะไกลกรอบจะทำหน้าที่ขีดเส้นผลงานออกจากผนังติดตั้ง กลับกันเมื่อสายตาเราจดจ้องมองดูรูปภายใน กรอบก็จะสูญไปจากงานกลายเป็นส่วนตัดทิ้งที่ถูกกลืนกินเข้ากับผนัง เมื่อมองดูงานชิ้นนี้ของลัทธพล กรอบได้กลายเป็นจุดนำสายตา เผยให้เห็นการมีอยู่ของกรอบและผนังจัดแสดง

การให้ความสำคัญต่อพื้นที่จัดแสดงทำให้นึกถึงผลงานในอดีตของลัทธพล ในนิทรรศการ Politic of Me (2012) ลัทธพลทำการโป๊วสี-ขัดผนังด้านหนึ่งของห้องนิทรรศการเสียใหม่ และจัดแสดงกระดาษทรายที่ใช้ในการขัด ตั้งเคียงกันกับผนังที่พื้นผิวมันวาวต่างจากผนังด้านอื่นๆ งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสนใจต่อกระบวนการที่กระทำต่อพื้นที่ทางศิลปะ ภาพอันขาวโพลนของลัทธพลจึงไม่ได้เป็นการนำเสนอเพียงกระบวนการทำงานบนกรอบภาพ หากยังแนะให้เห็นถึงความสำคัญของกรอบและพื้นผนังห้องจัดแสดง อันเป็นองค์ประกอบของศิลปะที่นอกเหนือไปจากเรื่องภายใน ‘กรอบ’ ของภาพ

 

 

เห็นได้ว่าผลงานของลัทธพล เล่นกับการมองเห็นของผู้ชมเป็นสำคัญ ชิ้นงานส่วนสุดท้ายเป็นภาพที่ถูกทารองพื้นและสีขาวในกรอบจัตุรัสขนาดเล็ก ชิ้นงานสีขาวติดตั้งอยู่ในระนาบระดับสายตา สามารถเข้าไปเพ่งมองได้ในระยะใกล้ แต่ชิ้นทารองพื้นกลับถูกติดตั้งไว้สูงเหนือระดับสายตา จึงจำต้องถอยออกห่างหากต้องการมองภาพที่สมบูรณ์ ชิ้นงานส่วนนี้คล้ายแนะให้ผู้ชมอาศัยระยะมองและการสังเกต ในการใช้สายตามองหามุมมองอันหลากหลายต่อเหล่าชิ้นงานในนิทรรศการ

การไม่ปรากฏชื่อภาพและคำอธิบายชิ้นงานในนิทรรศการของลัทธพล ย่อมสร้างความลำบากใจให้กับผู้ชมที่พึ่งพิงสิ่งเหล่านี้ในการสร้างความหมายให้แก่ผลงานที่ศิลปินนำเสนอ ในทางกลับกันเมื่อตัวบทเหล่านี้ไม่ปรากฏ กระบวนการคิดของผู้ชมก็หลุดเร้นรอดออกจากการควบคุมของภาษา การตีความของผู้ชมจึงเป็นไปอย่างเสรี หากแต่เมื่อทบทวนให้ดี ชื่อของนิทรรศการ ‘(ไร้) องค์ประกอบศิลป์’ ก็มีบทบาทต่อการมองเนื้อหาภาพรวมของนิทรรศการ

เราอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่า กระบวนการระหว่างการทำงานศิลปะ วัสดุที่แปรสภาพเป็นชิ้นงาน กรอบที่เป็นขอบแบ่งระหว่างพื้นผนังกับชิ้นงาน และบทบาทของผนังห้องนิทรรศการ สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงสิ่งที่ไม่ (ถูก) จัดเป็นองค์ประกอบของศิลปะตามขนบของการศึกษา/ทำงานศิลปะ ที่เทความสำคัญให้กับเพียงเรื่องของรูปทรงและเนื้อหาหรือไม่

 

หรือจริงแล้ว ผลงานเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องสิ่งข้างต้นอยู่เลย     

 

latthaponk.wixsite.com
#(Un)Composition #Latthapon #Korkiatarkul


[1] (Un) Composition นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล จัดแสดงที่ Gallery Ver ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม – 30 กันยายน 2560.

[2] พิพัฒน์ พสุธารชาติ, ความจริงในภาพวาด บทวิจารณ์ว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ของไฮเด็กเกอร์และแดร์ริดา, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2553), 327.

Oct 17, 2017
3264 views
About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]