ปกติเวลาพูดถึงศิลปะสมัยเรอเนซองส์เรามักคิดถึงศิลปินคนไหน? คำตอบส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น ลีโอนาโด ดา วินชี กับมิเคลันเจโล หรือ Moses, Mona Lisa กับ David เพราะวิชาสังคมศึกษาบอกเราแค่เท่านั้น และเราก็สับสนเกินกว่าจะบอกได้ว่าใครเป็นใครหรือวาดรูปอะไร มีใครบ้างที่จะตอบว่าวิตโตเร คาร์ปัชโช หรือโดเมนิโค เดล กีร์ลันดาโย จะมีใครบ้างที่นึกถึงหรือรู้จัก อัลเบรชต์ ดือเรอร์ หรือติเชียน หากไม่ใช่ผู้คนในแวดวงศิลปะ Renaissance Art: ศิลปะเรอเนซองส์เล่มนี้ จะพาเราไปทำความรู้จักกับผลงานและที่มาของผลงานอย่างคร่าวๆ ของเหล่าศิลปินยุคฟื้นฟู ให้มุมมองที่มีต่อศิลปะในยุคนั้นไม่ใช่แค่ Pieta, The Creation of Adam, The Last Supper หรือ Vitruvian Man อีกต่อไป
ดูจากชื่อหนังสือเราก็น่าจะพอเดาได้ว่าเนื้อหาหลักๆ ของมันน่าจะเกี่ยวกับอะไร แต่ Renaissance Art หรือศิลปะเรอเนซองส์มีอะไรมากกว่าที่ชื่อของมันบอก เพราะแว๊บแรกที่อ่านชื่อ ไม่ว่าใครก็คงนึกถึงแค่ประวัติศาสตร์ของชิ้นงานว่าวาดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน ผู้วาดคือใคร วาดไปทำไมแค่นั้น แต่พอลองได้อ่านดูจริงๆ แล้ว เรากลับพบว่าหนังสือบอกอะไรเรามากกว่านั้น ทั้งวิธีคิดของผู้สั่งทำชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธุรกิจที่แฝงอยู่ในการเคารพบูชา หรืออำนาจของความงามที่มีต่อจิตใจของผู้ศรัทธา และการใช้ชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมุมมองที่แตกต่างระหว่างผู้คนในยุคนั้นกับผู้คนในยุคนี้ ที่ถ้าหากไม่ได้อ่านเราก็คงจะไม่รู้ ตอนนี้เราก็คงยังคิดว่าผู้คนในสมัยก่อนมองภาพวาดในโบสถ์ด้วยแรงดึงดูดเหมือนกับเรา มองรูปแกะสลัก Pieta ในมหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter's Basilica) ด้วยสายตาชื่นชมเหมือนกันกับเรา หรือเรื่องเล่าในภาพวาดการบรรจุร่างพระเยซู (The Deposition of Christ) ของราฟาเอล (Raphael sanzio) เป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องราวในศาสนาคริสต์เท่านั้น ไม่ใช่ภาพวาดที่ผู้เป็นแม่สั่งทำขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึกผิดต่อลูกชายที่ถูกตนทอดทิ้ง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงบอกได้ไม่มากก็น้อยว่าสิ่งที่เราชอบที่สุดหนังสือเล่มนี้คงหนีไม่พ้นรายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แฝงเข้ามาตอนอธิบายประวัติของผลงานศิลปะแต่ละชิ้น ซึ่งทำให้ทั้งภาพวาด ภาพแกะสลัก และรูปปั้นทั้งหมดนั้นมีเสน่ห์ดึงดูดมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเราได้เห็นถึงความยากลำบากในการทำงานของศิลปิน การใช้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาสมบูรณ์ และความผูกพันธ์ระหว่างตัวผลงานกับสังคม ศาสนา และผู้จ้างวาน มันทำให้จากแค่รูปสลักของนักบวช หรือภาพวาดของพระแม่มารี กลายเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากหยาดเหงื่อและความสามารถของศิลปิน ซึ่งนอกจากจะทำให้เราชื่นชมภาพวาดด้วยมิติที่ลึกกว่าเดิมแล้ว เรายังรู้สึกทึ่งกับความพยายามและความเก่งกาจของศิลปินที่ใช้ในการสร้างผลงานเหล่านั้นขึ้นมาอีกด้วย นอกจากนี้คำพูดที่ถูกยกขึ้นมา (Quote) ทุกๆ อันยังเข้ากันกับเนื้อหา และทำให้เราเห็นมุมมองของผู้คนในสมัยเรอเนซองส์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย เพราะมันแสดงถึงความรู้สึกไม่ว่าจะต่อเหตุการณ์ในสังคม หรือผลงานศิลปะของผู้คน ณ จุดๆ นั้นได้เป็นอย่างดี และทำให้เรามีความรู้สึกร่วมได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นความคิดของเราที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ แต่มันยังไม่ใช่ทั้งหมดของ Renaissance Art: ศิลปะเรอเนซองส์ เพราะส่วนที่เหลือกำลังรอให้ผู้ที่สนใจหยิบมันขึ้นไปอ่านและค้นพบมันด้วยตัวเอง แต่เราสามารถพูดได้เลยว่าภายหลังจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ มันทำให้มุมมองความคิดของเราเปลี่ยนไปในหลายๆ เรื่อง เราจึงคิดว่ามันไม่ใช่หนังสือที่เอาไว้อ่านเพื่อหาความรู้เท่านั้น มันไม่ได้อธิบายแค่เรื่องของประวัติศาสตร์ และศิลปะ แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น และเราได้อะไรจากมันมากกว่าที่เราคิดว่าเราจะได้ ‘ศิลปะเรอเนซองส์’ เลยเป็นหนึ่งในหนังสือหลายๆ เล่มที่เราคิดว่าหากมีโอกาส เราจะหยิบมันออกมาอ่านอีกสักครั้งแน่นอน
Tweetไดอารี่ จดหมาย การถาม-ตอบ และบทความที่สนใจ ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำงานของศิลปินคนหนึ่ง และการเปิดเผยสิ่งเหล่านั้นให้ผู้คนได้มองเห็นก็เหมือนเอาชีวิตของตนมาตีแผ่เป็นบทความสารคดีเรื่องหนึ่ง นิทรรศการ The Serenity of Madness ก็เป็นเหมือนสารคดีขนาดสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวของคุณ อภิชาติพงศ์ ในรูปแบบที่เจาะลึกมากกว่าสารคดีทั่วไป นั่นเพราะมันเป็นเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงขึ้นโดยตัวศิลปิน
บริบททางสังคมกับความรู้สึกภายในของศิลปินมีผลกระทบต่อกันและกันมากขนาดไหน อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินหยิบพู่กันมาวาดรูปสักรูปหนึ่ง และในทุกครั้งที่นั่งอยู่เบื้องหน้ากระดานวาดภาพศิลปินเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ในหัว Van Gogh in Context ได้หยิบจับบริบทภายนอกมาบอกเล่าเรื่องราวไปพร้อมๆ กับความคิด พฤติกรรม และคำพูดของศิลปินเอกของโลก Van Gogh ให้ผู้ที่เข้าร่วมนิทรรศการได้เห็นมุมมองที่กว้างขวางและแปลกตาไปจากคำบอกเล่าเดิมๆ ที่มีต่อตัวศิลปินผู้นี้ ที่จะทำให้ความรู้สึกของเราต่างไปจากเดิม
หากพูดถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงในการเปลี่ยนนามปากกาและย้ายที่อยู่บ่อยมากพอกับการเป็นที่รู้จักผ่านผลงานอันโด่งดังมากมาย "คัตสึชิกะ โฮะคุไซ" ก็คือศิลปินคนนั้น ไปทำความรู้จักกับประวัติและผลงานในแต่ละยุคสมัย แต่ละนามปากกา ของคุณปู่ที่เรียกตัวเองว่าตาแก่บ้าวาดรูปธรรมดาๆ แล้วตัดสินใจไปพร้อมๆ กันว่า โฮะคุไซ เป็นแค่คนแก่อย่างที่ตนเองกล่าวแค่นั้นจริงหรือไม่ได้ใน KATSUSHIKA HOKUSAI เล่มนี้
"ความไม่เห็นด้วย" เมื่อพูดถึงคำๆ นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนคิดถึงคงหนีไม่พ้นการโต้แย้ง การมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของบุคคลสองฝ่าย แล้วความไม่เห็นด้วยนี้จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวได้อย่างไร "ฌาคส์ ร็องซิแยร์" มีคำตอบให้กับคุณ